ออกกำลังกาย ลด 'เบาหวาน' ได้อย่างไร

         การดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ พร้อมการหมั่นตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโรคบางโรค เมื่อเป็นแล้วไม่แสดงอาการแต่กว่าจะรู้ตัวก็อาจสายเกินเยียวยา หนึ่งในนั้นก็คือ “โรคเบาหวาน”
   
         พญ.ศิริกานต์ นิเทศวร วิทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเบาหวาน ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ความรู้ว่า เมื่อทานอาหารเข้าไปแล้ว ส่วนใหญ่อาหารจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสเข้าในกระแสเลือดเพื่อใช้เป็น พลังงาน โดยมีเซลล์ในตับอ่อนชื่อเบต้าเซลล์เป็นตัวสร้างอินซูลิน ซึ่งอินซูลินจะมีหน้าที่ในการดักจับน้ำตาลแล้วเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน ถ้าทั้งตับอ่อนและอินซูลินสมดุลกันดี น้ำตาลก็จะไม่เหลือในกระแสเลือดเพราะถูกดักจับไปเป็นพลังงานหมด แต่วันดีคืนดีตับอ่อนเกิดสร้างอินซูลินขึ้นมาน้อย ทำให้ร่างกายมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ก็สามารถนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานได้ และหากเกิดขึ้นเป็นเวลานานก็จะเกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่าง ๆ เช่น ตา ไต และระบบประสาท


        การเกิดโรคเบาหวานยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน เชื่อกันว่า 50 เปอร์เซ็นต์เกิดจากพันธุกรรม และอีก 50 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากการดำรงชีวิต โดยพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากกว่า 3 ล้านคน และที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ที่เข้ารับการรักษากว่าครึ่งไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าป่วยเป็นเบาหวาน ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่อาจเป็นต้นเหตุของการเกิดได้แก่ สูบบุหรี่ กรรมพันธุ์ ภาวะอ้วนมีน้ำหนักตัวเกิน ขาดการออกกำลังกาย หากบุคคลใดมีปัจจัยเสี่ยงมากก็ย่อมมีโอกาสที่จะเป็นเบาหวานได้มากขึ้นตามไป ด้วย
   
“อุบัติการณ์การเกิดโรคเบาหวานมักสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งตัวเลขที่สูงขึ้นนี้น่าจะเกิดจาก การดำรงชีวิตของคนเราในสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต จากเดิมทำงานมีการใช้แรง การเดินทางมีการออกกำลังกาย แต่ในปัจจุบันกลายเป็นมนุษย์ออฟฟิศ ทำงานนั่งแต่โต๊ะ เลิกงานก็กลับบ้าน กินข้าว นอน ไม่ค่อยได้ใช้แรง หรือมีการออกกำลังกายมากนัก ซึ่งเป็นการดำรงชีวิตที่ไม่ได้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ทำให้เกิดโรคตามมาได้หลาย ๆ โรคด้วยกัน”   
   
        ปัจจุบันพบผู้ป่วยที่มีอายุต่ำลงเรื่อย ๆ โดยพบคนที่เป็นโรคเบาหวานที่มีอายุน้อยมากขึ้น ตรงนี้ไม่ใช่ว่าคนเป็นโรคนี้กันมากขึ้น แต่เนื่องจากมีวิธีในการตรวจพบโรคนี้ได้หลากหลายทางมากขึ้นมากกว่า เช่น มีการตรวจสุขภาพกันมากขึ้น แม้กระทั่งในเด็กก็ได้รับการตรวจสุขภาพ จึงทำให้พบโรคนี้ในเด็กมากขึ้น
   
        พญ.ศิริกานต์ กล่าวถึงลักษณะของโรคเบาหวานเพิ่มเติมว่า เบาหวานเป็นโรคที่ 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่แสดงอาการ ต้องตรวจเลือดเท่านั้นถึงจะรู้ แต่อาการที่นำมาสู่โรคนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นอาการของปัสสาวะตอนกลางคืน 2-3 ครั้ง มีอาการหิวน้ำบ่อยเพราะสูญเสียน้ำ ดื่มน้ำเก่งเมื่อดื่มน้ำมากก็ต้องปัสสาวะบ่อย หรืออาจจะพบว่าปัสสาวะมีมดตอม รวมทั้ง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายไม่มีเรี่ยวแรง น้ำหนักลด ซึ่งเกิดจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้จึงย่อยสลายส่วนที่เป็นโปรตีนและ ไขมันออกมาใช้แทน มีอาการสายตาพร่ามองไม่ชัดเจน อาการชาไม่ค่อยมีความรู้สึก เนื่องจากการมีระดับน้ำตาลสูงเป็นเวลานาน ทำให้เส้นประสาทเสื่อม ความสามารถในการรับรู้ความรู้สึกจึงถดถอยลง เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เพราะไม่มีความรู้สึกเจ็บ หากปล่อยทิ้งไว้ในระยะยาวจะมีผลในการทำลายหลอดเลือด ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
   
         การวินิจฉัยโรคนี้จึงทำได้โดยการตรวจน้ำตาลในเลือด ปกติการตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือด หากไม่ได้ทานอะไรก่อน 6 ชั่วโมง จะอยู่ที่ 100-126 มิลลิกรัม ถ้าเกิน 126 มิลลิกรัม ถือเป็นโรคเบาหวาน หรืออีกเกณฑ์หนึ่งที่ใช้ คือ เจาะดูน้ำตาลเวลาใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร โดยผลที่ออกมาไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม ถ้าเกิน 200 ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
   
“โรคเบาหวานไม่ได้เป็นโรคที่รุนแรงแบบปัจจุบันทันด่วน แต่จะค่อย ๆ เป็นไปเรื่อย ๆ เมื่อน้ำตาลผิดปกติมากขึ้นจะมีผลต่อหลอดเลือด ลิ่มเลือด ทำให้เลือดแข็งหรือมีการอุดตันของเส้นเลือดได้ง่าย ซึ่งจะมีผลต่ออวัยวะส่วนปลายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สมอง หัวใจ ไต ดวงตา ปลายมือ ปลายเท้า ส่งผลทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคของไต ทำให้ไตวายได้ ตาบอด หรือทำให้เกิดโรคหลอดเลือดของสมอง หลอดเลือดของหัวใจได้ โดยโรคเหล่านี้เป็นโรค   ที่ค่อย ๆ เป็น จึงทำให้น่ากลัวเพราะไม่ใช่โรคที่เกิดอาการอย่างเห็นได้ชัดหรือมีอาการ แสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน แต่เป็นโรคที่ค่อย ๆ เกิดขึ้น แล้วเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง ก็จะใช้การอวัยวะส่วนที่ส่งผลไม่ได้เสียแล้ว”
    
         พญ.ศิริกานต์ กล่าวต่อว่า ทุกคนสามารถป้องกันและดูแลตนเองได้ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ควรระมัดระวังดูแลตนเองด้านอาหารการกิน และมีการออกกำลังกายอย่างพอดีไม่หักโหมจนเกินไป ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายบางประเภทที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะคนไข้เบาหวานส่วนใหญ่แล้ว จะมีปัญหาในส่วนของเส้นเลือด ถ้าไปออกกำลังกายแบบหักโหมมาก ๆ ก็จะเกิดอันตรายมากกว่าได้ประโยชน์จากการออกกำลังกาย เช่น คนไข้ที่เป็นเบาหวานที่เท้า คือ เท้าจะไม่ค่อยมีความรู้สึก แล้วไปออกกำลังกายโดยการวิ่ง ถ้าใส่รองเท้าไม่ดี เหยียบโน่น โดนนี่เข้าก็อาจกลายเป็นแผลที่ไม่รู้สึกตัวจนลามกลายเป็นแผลเรื้อรัง อาจเกิดโรคแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นอีกได้ หรือการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงเบ่ง อาทิ ยกน้ำหนัก เส้นเลือดที่ปูดอยู่แล้วอาจแตกได้ รวมทั้ง คนไข้ที่ได้รับยาฉีดอินซูลิน ถ้าไม่ได้เตรียมร่างกายในการออกกำลังกายที่ถูกต้อง อาจทำให้มีการใช้น้ำตาลมากขึ้น ส่งผลให้น้ำตาลต่ำ เกิดอาการเป็นลมหมดสติได้
   
ฉะนั้น เวลาที่คนไข้เป็นเบาหวานต้องการจะออกกำลังกาย ยิ่งถ้ามีโรคแทรกซ้อนแล้วยิ่งต้องปรึกษาแพทย์ก่อน ว่าโรคแบบนี้ ควรจะออกกำลังกายอย่างไร แค่ไหน ถึงจะปลอดภัย
   
        สำหรับกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน เช่น มีประวัติครอบครัวพ่อแม่ พี่ หรือน้อง ป่วยเป็นโรคเบาหวาน รวมถึงคนที่มีรูปร่างอ้วนน้ำหนักเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปกติ ผู้ที่อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป ควรจะมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีการควบคุมอาหาร และการคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    
         อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีตรวจสอบที่ทำได้ง่ายและสะดวก คือ ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอแม้ว่าจะยังไม่มีอาการก็ตาม เพื่อตรวจดูค่าเลือดว่าเป็นอย่างไร ซึ่งปัจจุบันมี เทคโนโลยี กลูโคเช็ค อีซี่ ซึ่งเป็นเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้การดูแลสุขภาพง่ายยิ่งขึ้น ทำให้สะดวกในการตรวจสุขภาพของตนเอง การที่เราป้องกันไว้ก่อนหรือรู้ทันระดับน้ำตาลในเลือดย่อมดีกว่า เพราะหากมีข้อสงสัยจะได้ปรึกษาหมอได้ทันท่วงที.

จาก เดลินิวส์


เรื่องต่อไป
« โพสก่อนหน้า
เรื่องก่อนหน้า
โพสต่อไป »